india-13

ถ้าบอกว่าวันนี้ทัวร์อินเดียจะพาคุณไปเที่ยวป้อมแดง  หลายๆท่านอาจพาลนึกไปถึงป้อมยามที่ตั้งอยู่หน้าหมู่บ้าน  แต่อย่างว่าทัวร์อินเดียของเรา ถ้าไม่อลังการ เราไม่นำเสนอขึ้นรายการสถานที่ในทริปแน่ๆ เอาเป็นว่ามันต้องมีความพิเศษ  แต่จะพิเศษยังไงไปติดตามกันเลย

คำว่า ป้อมแดง หรือ Red Fort หรือที่คนอินเดียทั่วไปเรียกว่า ลาล ขีลา (ลาล-แดง ขีลา-ป้อมปราการ) สร้างขึ้นจากหินทรายแดง เป็นพระราชวังของชาห์ เชฮันพระเจ้าแผ่นดินองค์หนึ่งของราชวงศ์โมกุล (องค์เดียวกับที่ทรงสร้าง        ทัชมาฮาล)ปัจจุบันป้อมแดงใช้เป็นที่ประกอบพิธีฉลองเอกราชของอินเดีย ในวันที่ 15 สิงหาคมของทุกๆ ปี นายกรัฐมนตรีจะทำพิธีคลี่ธงชาติ และกล่าวสุนทรพจน์ ณ เชิงเทินของพระราชวังป้อมแดงนี้

ป้อมแดงขนาดใหญ่ในอินเดีย มีอยู่ 2 แห่ง คือที่เดลี และอัคราซึ่งอยู่ห่างจากเดลี ประมาณ 200 กิโลเมตร ป้อมแดงที่เดลีเป็นป้อมปราการมีขนาดใหญ่มาก วัดรอบกำแพงทุกด้านเป็นความยาวถึง 1 ไมล์ครึ่ง กำแพงด้าน แม่น้ำยมุนาสูง 60 ฟุต ด้านอื่นสูงบ้างต่ำบ้างไม่เท่ากัน กำแพงบางแห่งสูง 75 ฟุต บางแห่งสูงถึง 110 ฟุต

พระเจ้าชาห์ เชฮัน ทรงโปรดให้สร้างป้อมแดงในปี พ.ศ. 2181 (ค.ศ. 1638) ใช้เวลาสร้าง 10 ปีเสร็จในปี พ.ศ.2191 นับถึงปัจจุปันมีอายุกว่า 350 ปี ในระหว่างช่วงเวลาดังกล่าวป้อมนี้ ต้องประสบภัยพิบัติทั้งจากธรรมชาติและจากข้าศึกศัตรูหลายครั้ง ในปี พ.ศ. 2262 เกิดแผ่นดินไหว เป็นผลให้ป้อมแดงได้รับความเสียหายต้องซ่อมแซมครั้งใหญ่ ในปี พ.ศ. 2282 ถูกกองทัพเปอร์เซีย เข้ามาปล้นเอาทรัพย์สมบัติมีค่าไปเป็นอันมาก รวมทั้งราชบัลลังก์นกยูง (Peacock Throne) ซึ่งทำด้วยทองและเพชรนิลจินดาอันหาค่ามิได้ และต่อมาเมื่ออำนาจของราชวงศ์โมกุลเสื่อมโทรมลง ก็ถูกปล้นอีกหลายครั้ง

ป้อมแดงมีประตูใหญ่ 2 ประตู คือ ประตูละฮอร์ (Lahore Gate) ซึ่งหันหน้าไปทางเมืองละฮอร์ในประเทศปากีสถาน ซึ่งเป็นประตูที่อนุญาตให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวเข้าชม ซึ่งมีลักษณะที่น่าสังเกตผิดกับประตูพระราชวังทั่วไป เพราะมองจากภายนอกไม่เห็นประตู เห็นแต่เชิงเทินสูงกำบังประตูไว้ ก่อนจะเข้าถึงตัวพระราชวังมีประตูด้านใน และมีทางทอดยาว ประมาณ 80 เมตร ไปถึง หอกลอง ที่เรียกว่า เนาปัตคะบา เป็นตึกสองชั้นซึ่งเป็นที่อยู่ของเจ้าพนักงานกรมมหรสพทั้งกรม

อาคารหลังแรกที่เข้าไปถึง เรียกว่า ดิวันอิอัม (Diwan-I-Am) เป็นที่ออกขุนนางชั้นนอก มีราชบัลลังก์ หินอ่อนอยู่ด้านใน เป็นที่พระเจ้าแผ่นดินประทับเวลาออกขุนนาง ผนังห้องราชบัลลังก์ฝังหินสีต่าง ๆ ซึ่งเป็นลวดลายนก ดอกไม้คล้ายของจริงมากที่สุด และยังคงสวยงามไม่ลบเลือน

ต่อจากดิวันอิอัมหรือห้องออกขุนนางชั้นนอก ก็จะถึงสถานที่ที่เรียกว่ารังคมาฮาล (Rang Mahal) เป็นที่        ทรงพระสำราญหลังการออกขุนนาง และฝ่ายในจะคอยเฝ้าที่นี่ พระที่นั่งหลังนี้สร้างบนกำแพงวังสูงมาก มีหน้าต่าง 5 ช่องสำหรับให้นางในไว้ชมการชนช้าง

ต่อจากพระที่นั่งรังคมาฮาล ถึงพระที่นั่งที่เรียกว่า ดิวันอิขาส (Diwan-I-Khas) เป็นที่นั่งเฝ้าชั้นใน สร้าง ด้วยหินอ่อนสีขาว ฝีมือก่อสร้างประณีตกว่าพระที่นั่งชั้นนอก เพดานเป็นไม้แกะสลักสวยงาม มีพระแท่น ราชบัลลังก์ซึ่งเคยประดิษฐานราชบัลลังก์นกยูง ที่เรียกว่า Peacock Throne ทำด้วยทองคำแท้ ฝังเพชรนิลจินดาล้ำค่า (บัลลังก์นี้ถูก Nadir Shah กษัตริย์เปอร์เซียที่เข้ามาโจมตีอินเดียนำไปไว้ที่กรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน ในปี ค.ศ. 1739) ในห้องนี้มีอักษรจารึกไว้ว่า ถ้าจะมีสวรรค์วิมานอยู่บนพื้นพิภพนี้ ก็คือ ที่นี่เอง ที่นี่เอง ที่นี่เอง” (“If there is a paradise on earth it is this, it is this, it is this”) เป็นคำจารึกที่ชอบพูดกันมาก

ตัวปราสาทที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดิน เรียกว่า คาสมาฮาล มีที่อยู่แบ่งออกเป็น 3 ตอน มี ห้องสรงสร้างอย่างวิจิตร ส่วนห้องบรรทมเป็นห้องโล่ง ๆ ไม่มีประตูเปิดปิดได้เลย ใช้เพียงม่านกั้นเท่านั้น ใช้คนเป็นยามเฝ้ารักษาแทนการปิดประตู และมีหอยื่นออกมาหอหนึ่ง ที่หอนี้พระเจ้าแผ่นดินต้องตื่นขึ้นมาไหว้พระสวดมนต์ และต้องแสดงพระองค์ให้ปรากฏแก่ราษฎรทุกเช้า เพื่อให้รู้แน่ว่ายังมีพระชนม์อยู่

ศิลปกรรมอีกชิ้นหนึ่งที่เชิดหน้าชูตาเดลี และเป็นถาวรวัตถุคู่กับพระราชวังป้อมแดง คือ ชามามัสยิด (Jama Masjid) เป็นสุเหร่าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศตะวันออก และเป็นสถาปัตยกรรมชิ้นเอกชิ้นสุดท้ายของพระเจ้าชาห์ ชาฮันสร้างด้วยหินทรายแดงและหินอ่อน เริ่มสร้างในปี พ.ศ. 2187 (ค.ศ.1644) แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2201 (ค.ศ.1658) มีประตูเข้า 3 ประตู หอคอยอยู่ 4 มุม และหอสูง(Minaret) 2 หอ ความสูง 40 เมตร

ทัวร์อินเดียบอกแล้วว่าไม่ธรรมดาจริงๆ !!!